Doraemon Thai Wiki
Advertisement
Doraemon Thai Wiki
Img56182322-0

ความเป็นมา[]

หลายคนอาจไม่ทราบว่า โดเรม่อน เกือบไม่ได้ออกอากาศทางช่อง 9 แล้ว

250px-โมเดิร์นไนน์การ์ตูน58

โลโก้โมเดิร์นไนน์การ์ตูนปี 2558

ถอยกลับไปเมื่อปี 2525 ฮิโรชิ คอนโด ประธานบริษัทแอนนิเมชัน อินเตอร์เนชันแนล ฮ่องกง ตัวแทนลิขสิทธิ์การ์ตูนของ TV ASAHI ได้นำการ์ตูนแมวหุ่นยนต์ซึ่งกำลังเป็นกระแสในหมู่นักอ่านการ์ตูนไทย มียอดพิมพ์กว่า 70,000 เล่มต่อฉบับ มาเสนอต่อ ประวิทย์ มาลีนนท์ แต่นายใหญ่แห่งช่อง 3 ยุคนั้นกลับปฏิเสธ และแนะนำให้ไปเสนอที่ช่อง 9 แทน

“ตอนนั้นเขาเอาไปเสนอคุณประวิทย์ก่อน เพราะช่อง 3 ซื้อ อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ซื้อ นินจาฮาโตริ จากเขา แต่คุณประวิทย์ทราบว่าช่อง 9 กำลังทำการ์ตูน ขณะที่ตัวเองกำลังทำหนังจีนแข่งกับช่อง 7 อาจจะด้วยน้ำใจ ก็เลยบอกให้คอนโดซังไปคุยกับช่อง 9 เพื่อให้ช่อง 9 เกิดดีกว่า” น้าต๋อยรำลึกความหลัง

หลังเจรจากับช่อง 3 ไม่สำเร็จ คอนโดซังจึงหันไปคุยกับผู้ใหญ่ของช่อง 9 ทันทีที่เสนอเรื่องเข้ามาก็ได้รับอนุมัติ เพราะทุกคนต่างมองว่า โดเรม่อน เป็นการ์ตูนครอบครัวที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ไม่มีพิษภัย และเข้าถึงกลุ่มผู้ชมทุกเพศ ทุกวัยมากกว่าการ์ตูนต่อสู้ ที่สำคัญคือ บุตรหลานของผู้บริหารหลายคนต่างก็เป็นแฟนประจำของแมวหุ่นยนต์ตัวนี้

ก่อนหน้าที่จะปรากฏตัวที่ช่อง 9 โดเรม่อน เคยโลดแล่นบนจอทีวีไทยมาแล้วครั้งหนึ่งทางช่อง 5 เมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะเป็นเวอร์ชันเก่า ยุคออกอากาศครั้งแรกที่ NIPPON TELEVISION เมื่อปี 2516 มาฉาย ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งเรื่องเสียงพากย์ไม่ค่อยดี เพลงประกอบก็ไม่ค่อยโดน จึงถูกตัดจบในระยะเวลาอันสั้น กระทั่ง 6 ปีต่อมา TV ASAHI จึงนำมาปรับปรุงคุณภาพเสียงและเพลงใหม่ ปรากฏคราวนี้ฮิตติดตลาด และโด่งดังไปทั่วประเทศ ซึ่งเวอร์ชันที่ช่อง 9 หยิบมาฉายก็คือฉบับปรับปรุงนั่นเอง

การประชาสัมพันธ์[]

เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง ซึ่งช่อง 9 ใช้ชื่อว่า ‘โดเรม่อน’ แทนที่จะเป็น ‘โดราเอมอน’ ตามชื่อภาษาญี่ปุ่น

จากข้อเขียนของ ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ อดีตหัวหน้างานวิจัยและส่งเสริมการตลาด อสมท เล่าว่า ยุคนั้นหนังสือการ์ตูนของวิบูลย์กิจ ซึ่งขายดีสุด ใช้ชื่อว่า โดเรม่อน แถมชื่อนี้ยังจำง่าย คล้ายๆ กับเสียงตัวโน้ตโดเรมี ทำให้ฝ่ายการตลาดตัดสินใจเลือกใช้ชื่อยอดนิยมแทนชื่อที่ถูกต้อง

การประชาสัมพันธ์ก็เช่นกัน ช่อง 9 พยายามป่าวประกาศสร้างความน่าเชื่อถือให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่า โดเรม่อน เป็นการ์ตูนดี มีประโยชน์ ด้วยการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เข้ามาช่วยตั้งแต่ยังไม่ฉาย โดยเดินสายนำหนังสือการ์ตูนไปแจกตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ จนหลายฉบับช่วยเขียนแนะนำว่า นี่เป็นหนังสือดีที่เด็กควรอ่าน

แต่สื่อที่ช่วยจุดกระแสได้อย่างแท้จริง คงต้องยกให้หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ซึ่งมียอดขายสูงสุดของประเทศ โดยเริ่มจาก ‘มังกรห้าเล็บ’ คอลัมนิสต์เบอร์ต้นๆ เขียนเชียร์ผ่านคอลัมน์ ‘ลั่นกลองรบ’ แถม ‘ชัย ราชวัตร’ ก็นำ โดเรม่อน ไปเขียนแทรกในการ์ตูนการเมือง และที่เด็ดสุดคือการนำการ์ตูนไปตีพิมพ์ในหน้าข่าวเยาวชน ตั้งแต่ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม 2525 จนเกิดกระแสเรียกร้องจากผู้ชม และโฆษณาต่างๆ ให้ช่อง 9 รีบนำ โดเรม่อน มาฉาย ทีมงานจึงตัดสินใจเลื่อนเวลาออกอากาศ จากเดิมที่วางแผนไว้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2525 มาเป็นวันที่ 5 กันยายน 2525

การพากย์เสียง[]

อีกเรื่องที่สำคัญคือ บทโทรทัศน์และการพากย์เสียงภาษาไทย เพราะแม้เรื่องจะสนุก แต่ถ้าหากพากย์ไม่ดีก็มีสิทธิ์แป้กได้ ทางสถานีมอบหมายให้น้าต๋อย เซมเบ้ ที่มีลีลาการพากย์โดดเด่นและมีความสนใจเรื่องการ์ตูนเป็นพิเศษ มารับหน้าที่ดูแลเรื่องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางคน จัดการบท รวมถึงวางแนวทางการลงเสียง พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เมื่อทีมพากย์ได้ทำงานอย่างสบายใจ ก็ยิ่งเสริมให้งานออกมาดีขึ้น

สำหรับทีมพากย์ช่วงแรกมีสมาชิกเพียง 4 คนเท่านั้น คือตัวน้าต๋อยเองรับบทไจแอนท์กับซูเนะโอะ ส่วนบทโดเรม่อนตกเป็นของ ฉันทนา ธาราจันทร์ แล้วก็ ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ พากย์เป็นโนบิตะกับชิซูกะ สุดท้ายคือ เรวัติ ศิริสรรพ พากย์เป็นพ่อและครูใหญ่ กระทั่งภายหลังจึงมีการเสริมคนเข้ามา เช่น อรุณี นันมิวาส พากย์เป็นซูเนโอะกับโดเรมี ศรีอาภา เรือนนาค พากย์เป็นชิซูกะ และ สุลัคษณา เทพหัสดิน ณ อยุธยา พากย์เป็นแม่ของโนบิตะกับเดคิสุงิ จนกลายเป็นทีมที่สมบูรณ์

ความเข้าขาไหลลื่นของทีมงานและการสร้างคาแรกเตอร์จนเป็นที่จดจำของเด็กๆ กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่องอื่นไม่ซื้อการ์ตูนเรื่องนี้ไปออกอากาศ เพราะผู้ชมต่างติดเสียงพากย์ชุดนี้เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน ทางสถานียังลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์และเปลี่ยนกระบวนการพากย์เป็นแบบใหม่ที่ดีขึ้น จากเดิมที่นักพากย์ 3 – 4 คนจะมารุมกันอยู่ที่ไมโครโฟนตัวเดียว ก็มีการจัดโต๊ะแยกออกมาสำหรับแต่ละคน ทำให้ใส่อารมณ์ และลีลาตามสไตล์ตัวเองได้เต็มที่ รวมทั้งยังแยกไลน์เสียงบรรยากาศกับเสียงพูดของตัวละครออกจากกัน เวลาพากย์จึงไม่ต้องหรี่เสียงบรรยากาศลง ทำให้ผู้ชมติดตามการ์ตูนอย่างเต็มอิ่มโดยไม่เสียอรรถรส ส่วนภาพก็นำต้นฉบับระบบ PAL มาออกอากาศเพื่อให้คงความชัดเจนมากที่สุด

ผลตอบรับ[]

ด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมา จึงทำให้ โดเรม่อน โด่งดังสุดขีด ขึ้นแท่นเป็นการ์ตูนเบอร์ 1 ของช่อง 9 นานหลายปี ยิ่งมาบวกกับความโด่งดังของการ์ตูนเรื่องถัดๆ มา ทำให้แต่ละสัปดาห์มีจดหมายเข้ามาถึงสถานีรวดเดียวเป็นหมื่นฉบับ ต่อมาก็เพิ่มเป็น 20,000 ฉบับ

แต่ท่ามกลางกระแสชื่นชม ก็มีผู้ปกครองหรือคุณครูบางคนที่ท้วงติงว่า การ์ตูนเรื่องนี้อาจทำให้เด็กๆ ขี้เกียจทำการบ้านแบบโนบิตะ จนทีมงานต้องอธิบายว่า ถ้าลองดูจนจบจะพบว่าทุกครั้งที่โนบิตะขี้เกียจหรือไม่อยากไปโรงเรียนแล้วไปขอให้โดเรม่อนช่วย สุดท้ายแล้วก็จะถูกแม่ดุ ถูกครูลงโทษ หรือสอบได้ศูนย์คะแนนเสมอ เพราะการ์ตูนต้องการสอนให้รู้ว่าของวิเศษโดเรม่อนไม่สามารถช่วยให้เขาเก่งได้ เด็กๆ ต้องช่วยเหลือตัวเอง

ตอนหลังผู้ปกครองจึงมีความรู้สึกดีกับทีมงาน อย่างบางคนโทรศัพท์มาบอกว่าลูกไม่กินผัก ไม่แปรงฟัน ขอให้ช่วยหน่อย ทีมพากย์จึงจะบอกเด็กๆ ว่าจบการ์ตูนเรื่องนี้แล้วอย่าลืมไปอาบน้ำแปรงฟัน แล้วผักก็ต้องกินด้วยนะ

อาจกล่าวได้ว่า โดเรม่อน ช่วยจุดกระแสความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นให้โด่งดัง จากผู้ชมวงแคบไปสู่วงกว้าง รวมทั้งทำให้เกิดโฆษณาสำหรับเด็กขึ้นมาโดยเฉพาะ ท่ามกลางยุคที่เอเจนซี่ส่วนใหญ่ต่างมองว่าเด็กไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังและขายดีมากคือขนมปักกิ่งของยูโรเปี้ยนฟู้ดและเซี่ยงไฮของยูไนเต็ดฟูดส์ แฟนช่อง 9 การ์ตูนทุกคนคงจำได้ดี

“ผมว่ามันเป็นการ์ตูนประวัติศาสตร์ของช่อง 9 อสมท ไปแล้ว โดเรม่อน ทำให้เกิดเงินแพร่สะพัดในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 3,000 – 4,000 ล้านบาท เหตุผลที่ช่อง 9 ยังอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่ารายการอย่างข่าวนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดตามผู้บริหารที่เข้ามาใหม่ แต่การ์ตูนไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีแต่สนุกมากหรือสนุกน้อยเท่านั้นเอง”

รายชื่อตอน[]

แหล่งที่มา[]

Advertisement